สำหรับสโมสร พีเอฟยู บลูแคทส์ (PFU BlueCats) อาจจะไม่ใช่ทีมชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจาก เจ้าแมวสีน้ำเงิน พึ่งจะเลื่อนขึ้นมาสู่ วี.ลีก หรือลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นเมื่อฤดูกาล 2018 – 2019 เป้าหมายหลัก ๆ ก็คือหนีตกชั้น และทำผลงานให้จบอันดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยทางสโมสรก็พยามนำผู้เล่นต่างชาติเข้ามาเสริมทีมอยู่ตลอด ซึ่ง หทัยรัตน์ ก็เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่เคยถูกดึงตัวไปลงสนาม ครั้งนี้เราจึงนำบทความ หทัยรัตน์ จารัตน์ กับการเป็นนักวอลเลย์บอลในวี.ลีก มาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน
ช่วงปีหลัง ๆ พีเอฟยู บลูแคทส์ กลายมาเป็นหนึ่งในทีมจาก วี.ลีก ที่คนไทยคอยติดตามกันมาตลอด เนื่องจากสโมสรนี้มีการดึงตัวนักวอลเลย์บอลชาวไทยไปร่วมทีมอยู่เรื่อย ๆ เริ่มต้นเมื่อฤดูกาล 2018 กับ ชัชชุอร โมกศรี, ฤดูกาล 2019 กับ ธนัชชา สุขสด และฤดูกาล 2020 กับ หทัยรัตน์ จารัตน์ ในตำแหน่งบอลเร็ว
หทัยรัตน์ จารัตน์ ชื่อเล่น แอป เกิดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1996 ปัจจุบันอายุ 27 ปี ส่วนสูง 182 ซม. น้ำหนักประมาณ 69 กก. กระโดดตบ 307 ซม. กระโดดบล็อก 300 ซม. เข้าสู่วงการวอลเลย์บอลครั้งแรกกับโรงเรียนหนองเรือวิทยา ในจังหวัดขอนแก่น โดยมีต้นทุนคือรูปร่างสูงใหญ่ แต่ในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นเจ้าตัวยังทำผลงานไม่ดีนัก ฟอร์มยังเป็นรองเพื่อน ๆ ในทีม อีกทั้ง หนองเรือวิทยา มีนักกีฬาโดดเด่นมากมายในตำแหน่งที่เธอเล่น สุดท้ายเลยยังไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามมากเท่าไรนัก
จนกระทั่ง แอป ขึ้นชั้นมัธยมปลาย ก็ถึงจุดที่ฝึกฝนฝีมือมามากพอ รวมถึงรุ่นพี่ในทีมเรียนจบกันไปหลายคน เธอจึงกลายเป็นตัวหลักของโรงเรียนทันที เมื่อลงเล่นก็ทำผลงานได้ดี ทำให้เจ้าตัวมีโอกาสเข้าไปร่วมซ้อมกับทีมชาติไทยชุดยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายโดนตัดรายชื่อออกไปเสียก่อน
หลังเรียนจบชั้นมัธยม หทัยรัตน์ จารัตน์ ก็เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมวิทยาเขตขอนแก่น และเป็นผู้เล่นหลักของสถาบัน เพื่อลงแข่งขันในรายการกีฬาวอลเลย์บอลมหาวิทยาลัย รวมถึงยังได้เข้าร่วมกับสโมสร ไทยเดนมาร์ก-หนองเรือ เพื่อลงสนามในรายการวอลเลย์บอลโปรชาเลนซ์ เมื่อฤดูกาล 2015 ก่อนจะสามารถพาทีมเลื่อนชั้นสู่ ไทยแลนด์ลีกได้สำเร็จอีกด้วย
ด้วยฟอร์มอันร้อนแรง แอป ก็ถูกกล่าวถึงมากกว่าเดิม เพราะในช่วงที่ลงแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ในปี 2017 นั้น เธอสามารถพาทีมก้าวไปถึงตำแหน่งรองแชมป์ได้เลยทีเดียว แม้สุดท้ายจะแพ้ให้กับสาวจากแดนปลาดิบแบบสนุก 2 ต่อ 3 เซต ก็ตามที ก่อนที่สุดท้าย หทัยรัตน์ จะคว้ารางวัลตำแหน่งบอลเร็วยอดเยี่ยมมาครองร่วมกับ อายากะ ซูกิ ของทีมชาติญี่ปุ่น
ในทัวร์นาเมนต์วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ตอนนั้น หทัยรัตน์ จารัตน์ ได้ร่วมเล่นกับนักกีฬาเก่ง ๆ หลายคนเช่น อัจฉราพร คงยศ, ชัชชุอร โมกศรี, พิมพิชยา ก๊กรัมย์ และ ทิชาญา บุญเลิศ ซึ่งปัจจุบันพวกเธอเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จ รวมถึงติดทีมชาติชุดใหญ่กันหมดแล้ว
หากจะถามถึงความโดดเด่นของ แอป ก็คงจะหนีไม่พ้นรูปร่างที่สูง มีความแข็งแกร่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีระเบียบวินัยตั้งใจฝึกซ้อม เสริมด้วยลูกตบคม ๆ อีกทั้งยังสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ส่วนสิ่งที่จะต้องแก้ไขก็น่าจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ การตัดสินใจหลาย ๆ จังหวะ การอ่านเกมที่ยังไม่ค่อยขาด หรือแม้กระทั่งการบล็อก หากเจ้าตัวพัฒนาในส่วนนี้ได้ อนาคตกับทีมชาติไทยก็มีโอกาสไปได้สวย
การบินไปลงเล่นให้กับ พีเอฟยู บลูแคทส์ ซึ่งเป็นสโมสรที่ไม่ใหญ่นัก และศักยภาพรวม ๆ ของยังเป็นรองทีมอื่น ๆ ใน วี.ลีก พอสมควร แต่มันก็ถือเป็นบททดสอบอันยอดเยี่ยมว่าจะสร้างผลงานให้ประสบความสำเร็จในที่แห่งนี้ได้หรือไม่
ส่วนปัญหาหลัก ๆ ของ แอป กับสโมสรแมวสีน้ำเงินก็คือภาษา เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่เอาไว้สื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม และโค้ช ยิ่งในตำแหน่งบอลเร็วก็ยิ่งจะต้องเข้าใจผู้เล่นคนอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ดังนั้นเธอจึงต้องรีบปรับตัวให้เข้ากับทุกคนให้เร็วที่สุด
ฤดูกาลที่ หทัยรัตน์ จารัตน์ ได้บินไปลงเล่นนับเป็นซีซันที่ 3 ติดต่อกันที่ทีม บลูแคทส์ ดึงตัวนักวอลเลย์บอลหญิงไทยร่วมทีม และถือเป็นครั้งแรกที่ใช้ผู้เล่นตำแหน่งบอลเร็วจากไทย โดยปีนั้นจะสโมสรแมวสีฟ้าจะมีขุมกำลังอันแข็งแกร่งขนาดไหนลองมาดูกัน
เริ่มจากมารู้ประวัติของ บลูแคทส์ กันก่อน สโมสรนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1980 และเป็นทีมที่ต้องเล่นอยู่ในลีกรองนานพอสมควร เคยต้องแข่งขันในรอบเพลย์ออฟถึง 7 ครั้ง กว่าจะได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ วี.ลีก เป็นครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งหลังจากเจ้าแมวสีน้ำเงินขึ้นมาเล่นบนลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นก็ทำผลงานได้ไม่ดี จนจบอันดับสุดท้ายของตาราง และไปแพ้รอบเพลย์ออฟทำให้ตกชั้นสู่ วี ชาลเลนจ์ ลีก แต่พอฤดูกาล 2017 – 2018 บลูแคทส์ ก็ไม่ยอมแพ้สามารถจบในตำแหน่งรองแชมป์ของ วี ชาลเลนจ์ ลีก และคว้าชัยในรอบเพลย์ออฟจนได้กลับไปยังลีกสูงสุดอีกครั้ง
เมื่อสโมสรมีเม็ดเงินไม่มากนัก ทำให้ต้องลองควานหาผู้เล่นจากต่างประเทศมาเสริม โดย ชัชชุอร โมกศรี ในตำแหน่งหัวเสาที่ตอนนั้นเป็นดาวรุ่งที่กำลังร้อนแรง จึงถูกเลือกไปลงเล่นเพื่อช่วยให้ บลูแคทส์ รอดตกชั้น ซึ่งสุดท้ายทีมก็อยู่รอดปลอดภัยจริง ๆ ถึงแม้จะจบอันดับสุดท้ายแต่ก็สามารถเอาชนะในรอบเพลย์ออฟได้
โดยหลังจากรอดตกชั้นแล้ว บลูแคทส์ เลือกที่จะไม่ต่อสัญญากับ ชัชชุอร โมกศรี แต่กลับไปนำเอาผู้เล่นในตำแหน่งเดียวกันอย่าง ธนัชชา สุขสด เข้ามาแทน แต่สุดท้ายเรื่องราวก็คล้าย ๆ เดิม เพราะรวม ๆ แล้วสโมสรยังไม่มีผู้เล่นที่แข็งแกร่งสู้ทีมอื่นไม่ได้ ทำให้ต้องไปในรอบการเพลย์ออฟอีกครั้ง ซึ่งพอมาถึงฤดูกาล 2020 – 2021 เจ้าแมวสีน้ำเงินเลยลองหันไปดึงตัว หทัยรัตน์ จารัตน์ ในตำแหน่งบอลเร็วมาเสริมทีม
ในฤดูกาลนั้นถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงนักกีฬาหลายคน แต่ก็ยังคงเน้นผู้เล่นในตำแหน่งหัวเสากับบอลเร็วเช่นเคย นอกจากหทัยรัตน์ จารัตน์ แล้วยังนำเอา โรสแลนดี อคอสตา จากประเทศเวเนซูเอล่า ตัวตบหัวเสาเจ้าของส่วนสูง 190 ซม. รวมถึงมีผู้เล่นชาวญี่ปุ่นอย่าง มานะ อิชิกาวะ และ นัตซึมิ วาตาบิกิ เข้ามาเสริมทีมอีกด้วย บวกกับสโมสรยังคงใช้งานผู้เล่นหน้าเก่าคนสำคัญ ยูกิโกะ อิบาตะ อยู่เช่นเดิม ทำให้ทีมน่าจะมีลุ้นมากขึ้น
หากมองจากผู้เล่นคนอื่น ๆ ในตำแหน่งเดียวกันแล้ว หทัยรัตน์ จารัตน์ ในตอนนั้นก็เรียกว่าไม่เป็นรองสักเท่าไร เพราะมีดีกรีเป็นถึงทีมชาติไทย แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเรื่องภาษานั้นสำคัญมาก ๆ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ของ บลูแคทส์ มักจะไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษ หากเจ้าตัวจะแย่งชิงกับการเป็นผู้เล่นหลักก็ต้องพัฒนาตรงนี้ให้ได้ รวมไปถึงการปรับตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเล่นของทีม จังหวะ การฝึกซ้อมแบบเข้มข้นกว่าที่ไทย ซึ่งเมื่อไรที่ แอป มีโอกาสลงสนามแล้วละก็ต้องโชว์ฟอร์มเหมือนตอนเล่นกับ ขอนแก่น สตาร์ วีซี ให้ได้
จบลงไปจนได้กับ หทัยรัตน์ จารัตน์ กับการเป็นนักวอลเลย์บอลในวี.ลีก ซึ่งตอนนี้แฟน ๆ ลูกยางก็คงรู้แล้วว่า บลูแคทส์ ในฤดูกาลนั้นจบในอันดับ 9 และ แอป ก็ไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่นเดียวกับผู้เล่นไทยคนอื่น ๆ ก่อนหน้า แต่ถือว่าการที่สาว ๆ ไปลงสนามในศึกวอลเลย์บอล วี.ลีก ซึ่งเป็นลีกสูงสุดของญี่ปุ่น ก็ได้รับประสบการณ์กลับมาต่อยอดให้กับตนเองในการเป็นนักตบอาชีพแน่นอน สำหรับวันนี้เราต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่กับบทความหน้า แล้วอย่าลืมกลับมาติดตามกันนะ