ในการแข่งขันวอลเลย์บอลนั้นจะมีอยู่คนหนึ่งที่ใส่ชุดสีสันแตกต่างจากผู้เล่นคนอื่น ๆ ในทีม และมักจะถูกเปลี่ยนตัวลงมาเพื่อเล่นเกมรับเพียงอย่างเดียวนั้นก็คือลิเบอโร หรือตัวรับอิสระ ซึ่งผู้เล่นในตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นต้องมีส่วนสูงมากนัก แต่ต้องมีความคล่องตัว และต้องมีการรับลูกตบที่ยอดเยี่ยม โดยวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปอ่านบทความ ประวัติ ลิเบอโร วรรณา บัวแก้ว สุดยอดตัวรับในยุค 7 เซียน ซึ่งเธอจะเก่งกาจแค่ไหนถึงกลายเป็นหนึ่งในตำนานผู้เล่นของเมืองไทยได้ก็ลองมาดูกันต่อได้เลย

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ วรรณา บัวแก้ว กันก่อนดีกว่า ปัจจุบัน นา อายุ 42 ปี ส่วนสูง 172 ซม. น้ำหนักประมาณ 61 กก. กระโดดตบสูง 292 กระโดดบล็อก 277 ซม. เคยเล่นในตำแหน่งตัวรับอิสระ
เรื่องในวัยเยาว์ของ วรรณา บัวแก้ว แฟน ๆ วอลเลย์บอลน่าจะเคยได้เห็นได้อ่านผ่านตากันมาบ้างก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งครั้งนี้เราจะมาเริ่มรายละเอียดตรงจุดที่ นา ได้กลายเป็นผู้เล่นคนไทยคนแรก ๆ ซึ่งมีโอกาสบินไปโลดแล่นยังลีกต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นที่อาเซอร์ไบจาน หรือประเทศอิตาลีอาเซอร์ จนย้อนกลับมาที่สโมสรไทยแลนด์ลีกในช่วงท้าย ๆ อาชีพอีกครั้งตอนประมาณฤดูกาล 2014 – 2015 กับสโมสร ไอเดียขอนแก่น และในฤดูกาลนั้นก็ยังมีเพื่อน ๆ ร่วมทีมชาติไทยทั้ง วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ ซึ่งกลับมายังสโมสร นครราชสีมา และ ปลื้มจิตร์ ถินขาว ที่ลงเล่นให้กับสโมสร บางกอกกล๊าส อีกด้วย

เมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างเป็นใจ วรรณา บัวแก้ว ซึ่งตอนนั้นอยู่กับสโมสรขอนแก่นสามารถพาทีมคว้าอันดับ 3 ได้ทั้งในวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก และซูเปอร์ลีก ก็ตัดสินใจย้ายไปหาความท้าทายใหม่ยังลีกต่างประเทศกับสโมสรอาเซอร์เรล บากู ในประเทศอาเซอร์ไบจาน พร้อม ๆ กับมือเซตทีมชาติไทยอย่าง นุศรา ต้อมคำ โดยในปีที่นักตบลูกยางสาวไทยทั้ง 2 คนย้ายไปนั้น ช่วยให้ทีมก็จัดแชมป์ลีกมาได้จนสำเร็จ จึงทำให้ทั้งคู่ได้แชมป์ตั้งแต่ปีแรกที่ไปลงเล่นเลย
พอหลังจากจบโปรแกรมการแข่งขันของทีมชาติไทยเมื่อปี 2016 วรรณา บัวแก้ว ก็ตัดสินใจอำลาทีมชาติ ซึ่งน่าเสียดายเพราะเจ้าตัวไม่สามารถทำความฝันที่อยากจะไปโลดแล่นในโอลิมปิกเกมส์ให้เป็นจริงได้ โดยทัวร์นาเมนต์สุดท้ายในนามทีมชาติของ นา ก็คือ เวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2016 รอบสุดท้าย แต่ต่อมาเธอก็ได้ผันตัวไปเป็นทีมงานผู้ฝึกสอนของทีมชาติไทย ซึ่งตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ ดนัย ศรีวัชรเมธากุล หรือ โค้ชด่วน คุมทีมชาติแล้ว โดยผลงานของรายการเอวีซี คัพ 2016 ณ ประเทศเวียดนามนั้น นักตบลูกยางของเราก็สามารถจบการแข่งขันได้ในอันดับที่ 3

ถึงแม้ วรรณา บัวแก้ว จะเลิกเล่นให้กับทีมชาติไปแล้ว แต่เจ้าตัวก็ยังคงเดินทางในวอลเลย์บอลสายอาชีพอยู่ โดยฤดูกาล 2016 – 2017 เธอได้บินข้ามน้ำข้ามทะเลไปลงเล่นในลีกประเทศเยอรมัน กับสโมสร อัลลิอันซ์ สตุตการ์ต โดยทีมโชว์ฟอร์มเทพเอาชนะแชมป์เก่าในรายการ ซูเปอร์ คัพ ก่อนเปิดฤดูกาลได้สำเร็จ ส่วนผลงานในลีกก็ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นเมื่อ นา เข้ามาเสริมเกมรับให้แน่นยิ่งขึ้น ทำในให้ฤดูกาลปกติ สตุตการ์ต เอาชนะไปทั้งหมด 17 ครั้ง แพ้ 5 ครั้ง จบเป็นอันดับ 2 จาก 12 ทีม หลังจากนั้นพอทีมเข้ารอบเพลย์-ออฟ ก็สามารถเอาชนะคู่แข่งในรอบก่อนรองชนะเลิศไปได้ ส่วนรอบรองชนะเลิศก็ต้องไปวัดกับแชมป์เก่าอย่าง เดรสเด็น ถึงเกมที่ 1 นั้นสโมสร สตุตการ์ต ของ วรรณา บัวแก้ว จะแพ้ไปก่อน แต่สุดท้ายก็ยังพลิกก็กลับมาเอาชนะได้ จึงได้ไปต่อยังรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเพราะในรอบนี้ สตุตการ์ต ก็แพ้ให้กับ ชเวริน ทำให้ได้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์ลีก

ส่วนผลงานของสโมสร สตุตการ์ต ในรายการ ซีอีวี คัพ หรือการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรยุโรป ก็สามารถเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศได้ แต่สุดท้ายก็พลาดท่าให้กับ สโมสร คาซัลมัจจิโอเร จากเมืองมักกะโรนี ซึ่งพอ วรรณา บัวแก้ว ในวัย 36 เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับการเล่นในลีกต่างแดนแล้ว ก็ได้บินกลับมายังประเทศบ้านเกิดอีกครั้ง และลงเล่นให้กับสโมสร บางกอกกล๊าส
เมื่อ วรรณา บัวแก้ว ได้กลับมาเล่นให้กับสโมสร บางกอกกล๊าส ในวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกฤดูกาล 2017 – 2018 ก็ทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้ช่วงแรกจะทำผลงานไม่ค่อยดีเท่าไร แต่สุดท้ายทีมก็ยังสามารถจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 3 และคว้ารองแชมป์ซูเปอร์ลีก 2018 แถมมันยังเป็นรายการสุดท้ายของ นา กับอาชีพวอลเลย์บอลอีกด้วย เพราะหลังจากนั้น บางกอกกล๊าส ก็ตัดสินใจยุบสโมสรทิ้ง

เมื่อเส้นทางหนึ่งจบไป เส้นทางต่อไปของ วรรณา บัวแก้ว ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งเจ้าตัวได้เปลี่ยนจากผู้เล่นมารับหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนเต็มตัวกับสโมสร นครราชสีมา ในฤดูกาล 2018 – 2019 แทน และถึงจะพึ่งจะเข้ามารับตำแหน่งนี้เป็นฤดูกาลแรก แต่เธอก็ช่วยทีมให้โชว์ผลงานออกมาได้อย่างตื่นตาตื่นใจ โดยสามารถเก็บชัยชนะได้ติดต่อกันถึง 16 เกมทั้งฤดูกาล จัดแชมป์วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีกมาได้แบบไร้พ่าย ซึ่งรวมแล้วตอนนั้นก็นับเป็นแชมป์สมัยที่ 4 ของ นครราชสีมา อีกด้วย และจากสถิติทำให้ นา กลายเป็นโค้ชหญิงคนแรกของประเทศไทยที่คว้าแชมป์ไทยแลนด์ลีกมาครองได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากนั้นเธอก็กลับไปเป็นหนึ่งในทีมงานของวอลเลย์บอลหญิงไทยเพื่อคอยช่วยเหลือในทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ พอหมดช่วงทีมชาติ นา ก็หันกลับมาคุมสโมสรน้องใหม่อย่าง ไดมอนด์ ฟู้ด วีซี

เมื่อ วรรณา บัวแก้ว มาคุมสโมสร ไดมอนด์ ฟู้ด วีซี ก็สามารถพาคว้าแชมป์ในรายการโปร ชาลเลนจ์ 2019 สำเร็จทันที ก่อนที่ทีมจะเลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยแลนด์ลีกในฤดูกาล 2020 ได้อีกด้วย แต่พอได้ขึ้นมาเล่นยังลีกสูงสุดแล้วผลงานของ ไดมอนด์ ฟู้ด วีซี กลับไม่ค่อยดีด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวของนักกีฬาที่น้อยเกินไป หรือการแข่งขันหลายรายการมากกว่าที่เคย จึงทำให้ทีมไม่ลงตัว และไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นต่อในรอบ 4 ทีมสุดท้ายได้
เรื่องธุรกิจส่วนตัว นา ได้นำทุนที่เก็บเอาไว้มาเปิดร้านกาแฟเป็นของตนเอง แต่ก็ยังคงทำงานอยู่ในวงการวอลเลย์บอลด้วยเช่นกัน โดยเจ้าตัวรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนให้กับนักกีฬาวอลเลย์บอลสาวไทย ซึ่งตอนนี้น้อง ๆ ที่เคยเป็นดาวรุ่งในยุคของตนเองปัจจุบันก็ได้รับประสบการณ์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และพร้อมสานต่ออนาคตให้กับทีมชาติไทยแล้ว

ส่วนตัว วรรณา บัวแก้ว ยอมรับถึงฝีมือของทีมชาติชุดนี้มาก ๆ แถมยังบอกอีกว่าน้อง ๆ จะเก่งกว่ายุคของ 7 เซียนแน่นอน เพราะวงการวอลเลย์บอลตอนนี้ได้พัฒนาไปไกลกว่าสมัยก่อน อีกทั้งสรีระ ส่วนสูง และความคล่องตัวของเด็กรุ่นใหม่ก็ยังดีกว่า ทำให้เวลาขึ้นบล็อกก็สามารถป้องกันได้เหนียวแน่นกว่าด้วย จึงอยากที่จะเห็นนักตบลูกยางไทยเข้าไปโลดแล่นในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์สักครั้ง เพราะตนเองเชื่อว่านักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยชุดนี้ยังคงพัฒนาฝีมือขึ้นได้อีก ทั้งนี้ก็ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระดับโลก และหมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ หาจุดแข็งจุดอ่อนให้เจอเพื่อมาปรับปรุงแก้ไข หากทำได้เวทีโอลิมปิกรอบสุดท้ายก็คงอยู่อีกไม่ไกล
และนี่ก็คือบทความ ประวัติ ลิเบอโร วรรณา บัวแก้ว สุดยอดตัวรับในยุค 7 เซียน โดยในช่วงท้าย ๆ ของ นา กับการเล่นวอลเลย์บอลอาชีพนั้น เธอยังคงทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี แสดงความเก๋าเกม และโชว์ประสบการณ์เกมรับซึ่งได้จากการไปลงเล่นยังลีกต่างประเทศให้น้อง ๆ ทุกคนในทีมได้เห็น อีกทั้งยังคอยสอนพร้อมแนะนำสิ่งต่าง ๆ ให้คำปรึกษาทั้งเรื่องใน และเรื่องนอกสนาม สมกับเป็นรุ่นพี่ที่น่าเคารพของเด็กรุ่นใหม่จริง ๆ ส่วนผลงานที่ฝากเอาไว้ในทีมชาติไทยของเจ้าตัวก็คือ แชมป์เอเชีย 2 สมัย, อันดับ 4 เวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2012, แชมป์เอวีซี คัพ 2012 และแชมป์ซีเกมส์ อีกหลายสมัยด้วยกัน