สโมสรวอลเลย์บอลหญิงใน วี.ลีก จากแดนปลาดิบนั้นมีทั้งหมด 12 ทีม แน่นอนว่าส่วนใหญ่สโมสรที่คนไทยรู้จักกันก็จะเป็นทีมซึ่งมีผู้เล่นชาวไทยสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เจที มาร์เวลลัส, พีเอฟยู บลูแคตส์, คูโรเบะ อควาแฟรีส์ และ โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ (Toyota Auto Body Queenseis) ที่วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จัก โดย โตโยต้า ออโต บอดี้ ควีนซีส์ ทีมวอลเลย์บอลที่มีประวัติอันยาวนานจากประเทศญี่ปุ่น จะมีเรื่องราวน่าสนใจแค่ไหน หรือจะมีนักตบลูกยางสาวไทยคนไหนสังกัดอยู่ ถ้าทุกท่ายพร้อมแล้วก็ไปลุยกันต่อเลย
สำหรับสโมสร โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ ของ วี.ลีก นั้นมีการดึงตัวนักวอลเลย์บอลไทยเข้าสู่ทีมครั้งแรกในฤดูกาล 2020 – 2021 หากคิดถึงเหตุผลต่าง ๆ นานา แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีมือ หรือการตลาด ก็ถือว่า มือเซตอย่าง พรพรรณ เกิดปราชญ์ ได้รับโอกาส และประสบการณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพขึ้นไปอีกขั้นอย่างที่เราเห็น ๆ กัน จนสุดท้ายเธอก็ได้ย้ายไปร่วมทีม ราปิด บูคาเรสต์ ในลีกโรมาเนียเลยทีเดียว ส่วนคนที่ 2 ซึ่งถูกดึงตัวเข้ามาก็คือ หัตถยา บำรุงสุข ตำแหน่งตัวบล็อกกลางในฤดูกาล 2021 – 2022 โดยสุดท้ายเจ้าตัวก็ได้รับการต่อสัญญาไปอีก 1 ปี และลงเล่นต่อในฤดูกาล 2022 – 2023 อีกด้วย
โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ นับเป็นอีกทีมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของลีกญี่ปุ่น โดยสโมสรตั้งอยู่ในเมืองคาริยะ จังหวัดไอจิ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1951 ส่วนชื่อ Queenseis เป็นการนำรากศัพท์จากภาษาอังกฤษ และภาษาสเปนมาใช้ร่วมกัน ซึ่งคำว่า Queen จากภาษาอังกฤษหมายถึงราชินี สื่อถึงตัวแทนของความฝัน และความยิ่งใหญ่ ส่วนคำว่า seis จากภาษาสเปนหมายถึง 6 พอนำมารวมทั้งหมดก็แปลว่าราชินีทั้ง 6 (นักวอลเลย์บอลในสนามมีทั้งหมด 6 คน) ที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่
โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ เลื่อนชั้นสู่ วี ชาเลนจ์ ลีก ครั้งแรกในฤดูกาล 1999 – 2000 พอหลังจากฤดูกาล 2005 – 2006 สโมสรสามารถเอาชนะในรอบเพลย์ออฟพร้อมคว้าแชมป์ได้สำเร็จ และขึ้นไปยังลีกสูงสูดของประเทศญี่ปุ่น หรือ วี.ลีก นั่นเอง
เป็นเวลาถึง 16 ฤดูกาล (นับถึงฤดูกาล 2021 -2022) ที่ โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ ขึ้นมายัง วี.ลีก และไม่เคยตกชั้นอีกเลย โดยส่วนใหญ่แล้วทีมจะจบซีซันอยู่แถว ๆ กลางตารางค่อนไปทางด้านบน เรียกได้ว่ายกระดับจากทีมท้ายตารางในช่วงที่ขึ้นชั้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งสโมสรวอลเลย์บอลระดับหัวแถวของญี่ปุ่น ซึ่งผลงานอันยอดเยี่ยมที่สุดก็คือในฤดูกาล 2017 – 2018 โดยสามารถจบเป็นอันดับ 3
หากหันมามองรางวัลที่สโมสรเคยคว้ามาประดับตู้ได้ก็จะเจอกับ ถ้วย Emperor’s Cup ปี 2008 และ 2017 ส่วนอีกถ้วยคือ Empress’s Cup All Japan Championships ในปี 2014 นั่นคืออีกการการันตีว่า โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายใหญ่ของทีมก็คือถ้วย วี.ลีก เพราะพวกเธอยังไม่เคยได้สัมผัสมันเลยสักครั้ง
ย้อนกลับไปในฤดูกาล 2019 – 2020 ฮารูยะ อินโดะได้กลายมาเป็นโค้ชแบบเต็มตัวครั้งแรก และพา โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ จบในอันดับ 5 ของตาราง แต่จริง ๆ แล้วเขาคนนี้มีความคุ้นเคยกับทีมเป็นอย่างดี เนื่องจากอยู่กับสโมสรมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 แล้ว โดยก่อนหน้า ฮารูยะ อินโดะ นั้นรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนของ อาซาโกะ ทาจิมิ ซึ่งอยู่ในชุดที่ได้แชมป์ Emperor’s Cup ปี 2017และคว้ารองแชมป์ในปี 2018
ส่วนนักกีฬาของ โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ ช่วงฤดูกาล 2020 -2021 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อความหลากหลายในการเล่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนทีมมีผู้เล่นตำแหน่งหัวเสาเป็นจำนวนมากนับรวมมีถึง 7 คนด้วยกัน ทำให้ต้องลดนักวอลเลย์บอลในตำแหน่งนี้ลงเหลือแค่ 4 คน ซึ่ง 3 คนที่ไม่ได้รับการต่อสัญญาคือผู้เล่นชาวญี่ปุ่นอย่าง มามิ อูชิเซโตะ และ โนโซมิ คาเนโมโตะ รวมไปถึงนักตบตุรกีที่มีอายุมากอย่าง เนริมาน ออซซอย ด้วย
เมื่อมีผู้เล่นออกก็ต้องมีผู้เล่นเข้ามาทดแทน โดยนักวอลเลย์บอลอย่าง ซากิ อินาบะ ดาวรุ่งในตำแหน่งหัวเสา, อะยากะ มัตซึโมโตะ ตำแหน่งบอลเร็ว และ คาซาเนะ คุมาอิ ตำแหน่งตัวรับอิสระ จะเข้ามาเสริมความหลากหลายให้กับ โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์
ทางฝั่งนักกีฬาต่างชาติสโมสรได้เซ็นสัญญากับ 2 นักตบอย่าง พรพรรณ เกิดปราชญ์ ตำแหน่งเซตเตอร์ และ อินเดร โซโลไกเต ตำแหน่งหัวเสา เพื่อให้เข้ามาช่วยกันทำเกมรุก พร้อมทั้งยังมีผู้เล่นหน้าเก่าอย่าง เอริกะ อารากิ ตำแหน่งบอลเร็ว และกัปตันทีม อายะ วาตานา อีกด้วย
ซึ่งในตำแหน่งเซตเตอร์จะมีทั้งหมด 3 คนด้วยกันคือ พรพรรณ เกิดปราชญ์ , ยูกิ ยามากามิ และ ริซาโกะ ยามากาตะ โดยทุกคนจะต้องพลักดันตัวเองให้ลงสนามเพื่อกลายเป็นผู้เล่นหลักของทีมให้ได้
ยูกิ ยามากามิ คือผู้เล่นที่อยู่กับสโมสรนับตั้งแต่ปี 2016 และเป็นตัวหลักของทีมมาเนิ่นนาน แถมเจ้าตัวยังเคยได้รางวัลตำแหน่งเซตเตอร์ยอดเยี่ยม ในรายการวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี เมื่อ ค.ศ. 2012 และเคยเอาชนะสาวชาติไทยในรอบชิงอันดับ 3 โดยทีมชาติไทยมีนักกีฬาอย่าง ทัดดาว นึกแจ้ง , อัจฉาพร คงยศ , กติกา แก้วพิน และแก้วกัลยา กมุลทะลา อยู่กับชุดนั้นด้วย
ส่วน ริซาโกะ ยามากาตะ ย้ายมาอยู่สโมสร โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดยเจ้าตัวถูกเซ็นสัญญาเพื่อมาสลับกันลงเล่นกับ ยูกิ ยามากามิ
แต่หากจะเทียบส่วนสูงระหว่างมือเซตทั้ง 3 สาวแล้วละก็ ริซาโกะ ยามากาตะ จะมาเป็นอันดับ 3 เพราะเธอสูงแค่ 169 ซม. ส่วน ยูกิ ยามากามิ สูง 170 ซม. และ พรพรรณ เกิดปราชญ์ สูง 173 ซม.
หรือถ้าจะวัดกันที่ความสามารถของเซตเตอร์ระดับโลกจากเว็บไซต์ www.women.volleybox.net แล้วละก็ พรพรรณ เกิดปราชญ์ จะสูงที่สุดอยู่ที่ระดับ 5 ดาว รองลงมาเป็น ยูกิ ยามากามิ ที่ 4 ดาวครึ่ง และ ริซาโกะ ยามากาตะ 4 ดาว ทำให้ ชมพู่ ของไทยเหนือกว่าอีก 2 คนทันที
สำหรับ พรพรรณ เกิดปราชญ์ กับการย้ายไปลงสนามให้ โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ นับเป็นการเล่นในลีกต่างชาติเป็นครั้งที่ 2 เพราะกว่าหน้านี้เธอเคยบินไปร่วมสโมสร โปปซิโว โปลวาน ในโปร ลีกา ของอินโดนีเซีย เมื่อฤดูกาล 2018 – 2019 แถมพาทีมคว้าแชมป์มาได้อีกต่างหาก
ซึ่งในลีกอาชีพของอินโดนีเซีย พรพรรณ เกิดปราชญ์ โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม และโดดเด่นตลอดทั้งฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายบอลให้เพื่อนแบบแม่นยำ สร้างสรรค์เกมลูกได้หลากหลายรูปแบบ มีแถมความคล่องแคล่วว่องไว การเผชิญหน้าในลีกเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่ปัญหา แต่กลับกันในลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นคงจะไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะ วี.ลีก มีความเข้มข้น มีผู้เล่นที่แข็งแกร่งมากกว่า รวมไปถึงมาตรฐานระดับเอเชีย มันจึงเพิ่มความกดดันให้กับ ชมพู่ ไม่น้อยเลยทีเดียว
จบลงไปแล้วในบทความ โตโยต้า ออโต บอดี้ ควีนซีส์ ทีมวอลเลย์บอลที่มีประวัติอันยาวนานจากประเทศญี่ปุ่น และเราจะทิ้งท้ายไว้กับความฝันของนักตบลูกยางไทยอย่าง พรพรรณ เกิดปราชญ์ เนื่องจากเจ้าตัวทำตามความฝันสำเร็จไปแล้ว โดยได้โอกาสย้ายมาเล่นใน วี.ลีก ลีกสูงสุดของแดนปลาดิบ และก้าวข้ามไปอีกขั้นกับลีกยุโรป ณ ประเทศโรมาเนีย เรียกว่ากัปตันทีมชาติไทยเก็บประสบการณ์มาเต็ม ๆ พอที่จะกลับมาช่วยให้ทีมสาวไทยของเราพัฒนาได้ไกลกว่าเดิม ส่วน โตโยต้า ออโต บอดี ควีนซีส์ ก็ยังมีดาวตบอย่าง หัตถยา บำรุงสุข ให้แฟน ๆ ตามเชียร์กันอยู่ด้วยนะ