แฟน ๆ วอลเลย์บอลรุ่นเก๋าน่าจะรู้จักกับ บัวลี มาอยู่บ้าง ส่วน ปวีณ์นุช ก็อาจจะต้องเป็นแฟน ๆ วอลเลย์บอลรุ่นใหม่สักนิด ซึ่งฝีมือของทั้ง 2 คนก็นับได้ว่ายอดเยี่ยมพอสมควร แต่สุดท้ายทำไมถึงไม่ค่อยโด่งดัง มีเหตุผลอะไร หรือเกิดอะไรขึ้น เราขอเชิญเพื่อน ๆ มาพบกับบทความ เส้นทางของนักวอลเลย์บอล บัวลี เจริญศรี และ ปวีณ์นุช เรืองรัมย์ ส่วน 2 นักตบต่างวัยจะมีเรื่องราวที่คล้าย หรือแตกต่างกันแค่ไหนก็มาติดตามกันต่อได้เลย
เริ่มต้นกันที่ บัวลี เจริญศรี กันก่อน แจง เป็นคนอุดรธานี ส่วนสูง 178 ซม. ลงเล่นในตำแหน่งบอลเร็ว มีเส้นทางวอลเลย์บอลคล้ายกับนักกีฬาอีกหลาย ๆ คน เคยเป็นตัวแทนทีมชาติไทยชุดเยาวชนที่บินไปแข่งขันยังประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมาก็เล่นอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ระดับภาค ไม่เคยคิดว่าวอลเลย์บอลจะนำพาเธอไปได้ไกลกว่าตอนนั้น
ส่วนใหญ่เวลานั้นผู้เล่นในทีมชาติไทยมักมาจากหนองเรือวิทยา แต่เธอเป็นคนเดียวที่ไม่ใช่ และสามารถก้าวไปอยู่ในแคมป์ทีมชาติได้ โดย ดนัย ศรีวัชรเมธากุล หรือโค้ชด่วน เป็นคนเรียกตัวเธอตอนกำลังเรียนอยู่ราชภัฏที่อุดร ให้เข้ามากรุงเทพ เพื่อร่วมทีมกับ RBAC ซึ่งในสถานที่นี้เองที่เจ้าตัวได้ฝึกซ้อมแบบเข้มข้น และเป็นระบบ แถมมีโอกาสได้ร่วมทีมกับนักกีฬาระดับชาติหลายคนซึ่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต เช่น นุศรา ต้อมคำ มือเซตระดับโลก
โดย บัวลี เจริญศรี กล่าวว่า นุศรา เป็นตัวเซตที่ทำให้เธอวิ่งมากที่สุดเท่าที่เคยเล่นด้วยมา เนื่องจากตำแหน่งบอลกลางมักเป็นตัวหลอกซึ่งต้องกระโดดขึ้นมาตีลมบ่อย ๆ เพื่อให้หัวเสาเล่นสะดวก ถ้าลูกไหนที่ส่งมาให้แล้วตีไม่ตาย นุศรา ก็จะส่งมาเรื่อย ๆ จนกว่าเธอจะทำให้ได้ ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับตัวตีมาก ๆ
หาก นุศรา ต้อมคำ เป็นมือเซตอัจฉริยะ บัวลี เจริญศรี ก็คือนักวอลเลย์บอลฝีมือระดับกลาง ๆ ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าตัวก็ได้โอกาสรับใช้ชาติ เข้าร่วมการทัวร์นาเมนต์มหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยโลก ณ ประเทศเซอร์เบีย เมื่อปี ค.ศ. 2009
บัวลี เจริญศรี นับได้ว่าเป็นนักวอลเลย์บอลแรก ๆ ของไทย ที่ได้บินไปลงเล่นยังลีกของประเทศฟิลิปปินส์ โดยตอนนั้นเดินทางพร้อมกับเพื่อนอีกคนแต่อยู่กันคนละทีม ซึ่ง โค้ชด่วน เป็นคนพาไป ทีแรกสโมสรกำลังตามหาตำแหน่งบอลโค้ง แต่เพราะตนเองอยากไปจึงบอกว่าตีบอลโค้งได้ ซึ่งพอไปถึงก็ต้องลงสนามในวันถัดไปเลยไม่ได้พัก ตกกลางคืนเลยนอนไม่หลับเนื่องจากตื่นเต้นมาก ๆ พอถึงวันต่อมาก็ได้ลงสนามในฐานะผู้เล่นต่างชาติของสโมสร San Sebastian
สำหรับวันแรกที่ลงแข่งตัวเซตของทีมส่งบอลให้บ่อยมาก ๆ ยิ่ง แจง ตีได้ดี ทำแต้มได้มาก ก็ได้บอลเยอะขึ้น ตีได้หมดไม่ว่าจะอยู่ข้างหน้า หรือข้างหลัง พอถึงช่วงท้าย ๆ เลยกระโดดไม่ค่อยไหว เป็นตะคริวแต่ไม่รู้จะบอกใครเพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จะบอก โค้ชด่วน ก็ไม่ได้เหมือนกันเพราะเขานั่งอยู่ไกล ๆ บนอัฒจันทร์ สุดท้ายตะคริวลามขึ้นมาถึงบริเวณข้อเท้าก็ต้องอดทนต่อไป ซึ่งตัวเซตเพื่อนร่วมทีมก็ยังคงส่งบอลมาให้ตลอด สรุปการแข่งขันครั้งแรกของ แจง กับวอลเลย์บอลในลีกฟิลิปปินส์ ได้ลงเล่นถึง 5 เซต และสามารถคว้าชัยสำเร็จ
พอได้ลงเล่นในลีกเพื่อนบ้านไปแล้ว บัวลี เจริญศรี ก็มีการโยกย้ายไปแข่งขันกับอีกหลายต่อหลายประเทศในอาเซียน เช่นลีกประเทศเวียดนามกับสโมสร Thanh Hoa, Binh Dien Long An และ Quang Ninh ลีกประเทศอินโดนีเซียกับสโมสร Petrokimai แต่กับประเทศแรกอย่างฟิลิปปินส์ เจ้าตัวได้กลับไปลงสนามให้กับอีกหลาย ๆ ทีม รวม ๆ แล้วก็กินเวลาประมาณ 10 ปี ได้
บัวลี นั้นมีชื่อเสียงในลีกฟิลิปปินส์มากพอสมควร เพราะเธอเป็นนักวอลเลย์บอลที่คว้ารางวัลจากผลงานส่วนตัวมากที่สุดในระยะเวลา 10 ปี โดยสถิติบันทึกเอาไว้ว่า แจง เป็นผู้เล่นซึ่งได้รับรางวัลส่วนบุคคลมากที่สุดทั้งหมด 13 รางวัล คือรางวัล Best Attacker 2 ครั้ง, Best Scorer 6 ครั้ง, MVP 4 ครั้ง, Best Digger 1 ครั้ง จริง ๆ รางวัลสุดท้ายน่าจะต้องตกเป็นของตำแหน่งตัวรับอิสระเพราะมีหน้าที่หลักในการขุดบอล แต่เจ้าตัวกลับทำสถิตินี้เอาไว้ได้ และกลายเป็นผู้เล่นเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ของลีกฟิลิปปินส์ทันที
นอกจากลีกต่างชาติที่เธอใช้ชีวิตนักวอลเลย์บอลอาชีพอย่างยาวนานแล้ว ในวอลเลย์บอลไทยลีก แจง ก็เคยกลับมาร่วมเล่นกับหลายสโมสรเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น บ้านหมี่-ลพบุรี, กรุงเทพ, สุพรีม (นครศรีฯ) ก่อนสุดท้ายเธอจะจบเส้นทางสายนักตบลูกยางกับสโมสร สุพรีม-ชลบุรี
บัวลี เจริญศรี อาจจะไม่ได้ถือว่าประสบความสำเร็จ หรือมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำมากเท่าไรนักในวงการวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก แต่เส้นทางนักตบลูกยางอาชีพของเธอ ก็นับว่าไม่ได้แย่เลย เพราะเจ้าตัวนับเป็นผู้เล่นไม่กี่คนของไทยที่ได้โลดแล่นในลีกต่างแดนเป็นระยะเวลายาวนาน ไปสร้างรากฐาน และชื่อเสียงของนักตบลูกยางไทยทิ้งไว้มากมาย แถมยังส่งผลให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่สามารถกล้าที่จะออกไปผจญภัยยังโลกภายนอกด้วย ถึงขนาดที่สื่อกีฬาของประเทศฟิลิปปินส์ยกย่องให้ แจง เป็น The Most Decorated Import Player และมีฉายาว่า The Impending Doom. กันเลยทีเดียว
มาต่อกันที่เรื่องของ ปวีณ์นุช เรืองรัมย์ หรือ เฟิร์น ซึ่งเลือกจะเล่นวอลเลย์บอลอาชีพกับเรียนมหาวิทยาลับไปพร้อม ๆ กัน
ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 2014 เนื่องจากนักวอลเลย์บอลยุวชนรุ่นอายุต่ำกว่าอายุ 17 ปีของไทยชุดนั้นสามารถคว้าตำแหน่งรองแชมป์หญิงเอเชียมาได้สำเร็จ ซึ่งหากดูรายชื่อผู้เล่นก็จะเห็นว่าน้อง ๆ แต่ละคนในชุดนั้น ปัจจุบันล้วนแต่กลายเป็นตัวหลักของทีมชาติไทยกันเกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็น บุ๋มบิ๋ม ชัชชุอร โมกศรี, บีม พิมพิชยา ก๊กรัมย์ หรือ นุกนิก ณัฐฏณิชา ใจแสน ก็ตาม โดย เฟิร์น ปวีณ์นุช เรืองรัมย์ เองก็ร่วมเล่นอยู่ในชุดที่กล่าวมาด้วย
พอเธอคว้ารองแชมป์วอลเลย์บอลหญิงยุวชนเอเชียในปี 2014 มาได้ เฟิร์นจึงได้รับโอกาสให้ก้าวขึ้นไปยังทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 19 ปี พอถึงปี 2016 ก็ยังสามารถจบในอันดับที่ 3 ของรายการวอลเลย์บอลหญิงเยาวชนเอเชียได้อีก ทำให้เจ้าตัวกลายเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งตำแหน่งบอลเร็วที่อาจจะก้าวไปต่อยังทีมชาติไทยชุดใหญ่ในอนาคต
หลังจากก้าวข้ามวัยมัธยม ปวีณ์นุช เรืองรัมย์ ก็เลือกเรียนในคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทาน ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยโควตาของนักกีฬาทีมชาติ เธอจึงทำให้ได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร โดยผลการเรียนก็เรียกได้ว่ายอดเยี่ยมเลยทีเดียว เพราะเกรดเฉลี่ยของเจ้าตัวอยู่ที่ 3.50
เฟิร์น บอกว่าตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพเพราะอยู่ใกล้กับที่พัก และสาขาโลจิสติกส์ในคณะบริหารธุรกิจเป็นอะไรที่ตนกำลังสนใจ ซึ่งการเรียนค่อนข้างหนัก ต้องตั้งใจมาก ๆ สุดท้ายพอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจึงไม่ได้ลงเล่นวอลเลย์บอลให้กับที่ไหนเลย แต่พอมีเวลาว่างเมื่อไรก็จะมาฝึกซ้อม และลงแข่งให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ก่อนที่จะมาเล่นกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เธอเคยอยู่กับทีมกรุงเทพ และลงเล่นในทัวร์นาเมนต์วอลเลย์บอลโปรชาลเลนจ์ 2019 แต่ตอนนั้นก็ไม่สามารถพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นไปยังไทยแลนด์ลีกได้
ส่วนปัญหาหลัก ๆ ที่ ปวีณ์นุช เรืองรัมย์ ไม่ได้ลงเล่นเนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเมื่อก่อน ซ้อมได้ไม่เป็นที่ เรื่องเรียนก็ต้องตั้งใจ อีกทั้งการเดินทางก็เป็นอุปสรรคพอสมควร สุดท้ายต้องปฏิเสธหลาย ๆ คนที่อยากจะดึงไปร่วมทีม เรื่องของทีมชาติไทยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แม้จะคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ แต่ก็รู้ตัวว่าตอนนี้น่าจะไม่สามารถเข้าไปเจอกับการซ้อมอันหนักหน่วงแบบนั้นได้อีก
ปัจจุบัน แม้จะกลับมาดีขึ้น แต่ก็ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม นั่งเครื่องบินนาน ๆ หรือเดินทางไกล ๆ ลำบาก อนาคตก็อาจจะไม่ได้เดินบนเส้นทางสายอาชีพวอลเลย์บอลแล้ว แต่เจ้าตัวก็ยังสามารถเดินในเส้นทางอื่นได้
และนี่ก็คือ เส้นทางของนักวอลเลย์บอล บัวลี เจริญศรี และ ปวีณ์นุช เรืองรัมย์ การเดินบนเส้นทางของนักกีฬาหลายคนนั้นแตกต่างกัน บางคนสามารถไปต่อถึงจุดหมาย แต่สำหรับบางคนก็ไม่สามารถเดินไปถึงจุดที่หวังไว้ได้